石兰

วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

การใช้ตะเกียบจีน

ตามที่เล่ากันมา วิธีการรับประทานอาหารในโลกนี้ มีอยู่ ๓  แบบ  คือ รับประทานอาหารด้วยมือโดยตรง  คนที่ใช้วิธีนี้มีอยู่ประมาณ ร้อยละ ๔๐   คนที่ใช้มีดและส้อมมีประมาณ ร้อยละ ๓๐  คนที่ใช้ตะเกียบมีประมาณ ร้อยละ ๓๐
   ตะเกียบเป็นสิ่งประดิษฐ์สำคัญของชาวจีน   ชาวจีนเริ่มใช้ตะเกียบตั้งแต่สมัย อิงซัน คือ ประมาณ ๓๐๐๐ ปีที่แล้ว   แต่ตอนแรก ๆ ไม่ได้เรียกว่า คว่ายอย่างที่คนปัจจุบันเรียกกัน  ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์   คนสมัยโน้นเรียกตะเกียบว่า จู้ หรือ เจีย   ในศตวรรษที่ ๗ ถึง ๘  เรียกตะเกียบว่า  จิน   เมื่อเป็นเช่นนี้ คำว่า คว่ายที่ใช้กันทุกวันนี้มาจากไหน ตามบันทึกในเอกสารประวัติศาสตร์   ชาว เจียงหนาน ทางภาคตะวันออกของจีนเห็นว่า  ภาษาจีน  คำว่า จู้ ที่ใช้เรียก ตะเกียบ กับ คำว่า จู้ที่แปลว่า หยุด ออกเสียงเหมือนกัน   แต่เผอิญคนเดินเรือทางภาคใต้ถือคำว่า หยุด   จึงไม่เรียกตะเกียบเป็น จู้ แต่เรียกใหม่เป็น คว่าย ซึ่ง หมายถึง เร็ว  พอถึงศตวรรษที่ ๑๐ สมัยราชวงศ์ซ่ง    ชาวบ้านได้ใส่สัญลักษณ์ไม้ไผ่บนคำว่า คว่าย จึงกลายเป็นคำที่ใช้เรียกตะเกียบในปัจจุบันพ แต่ยังคงอ่านเป็นคว่าย  เพราะว่า ตะเกียบทำจากไม้ไผ่   ตั้งแต่นั้นมา จึงเรียกตะเกียบซึ่งเป็นเครื่องใช้ในการรับประทานอาหารที่ชาวจีน ประดิษฐ์ขึ้นว่า คว่ายมาจนถึงปัจจุบัน
 แล้วตะเกียบประดิษฐ์คิดขึ้นมาได้อย่างไรเล่า  มีคนคาดเดาว่า     คนโบราณใช้กิ่งไม้ สองอันคีบอาหารย่างไฟ  และคีบของกิน   ทำแบบนี้ จะไม่ร้อนมือ  อีกทั้งสามารถชิมของกินได้ในขณะ ยังร้อน และมีรสชาติอร่อย   นานเข้า กิ่งไม้ก็พัฒนาเป็นตะเกียบ   โครงสร้างของตะเกียบง่ายมาก  รูปร่าง ลักษณะ  ตะเกียบประกอบด้วยก้านไม้ขนาดเล็ก  สองอัน  ตะเกียบของเมืองจีน ข้างบนใหญ่กว่าข้างล่าง และทำเป็นรูป ๔ เหลี่ยมสำหรับท่อนบน ข้อดีของรูปร่างลักษณะเช่นนี้คือ  สะดวกในการจับตะเกียบ  ไม่หลุดง่าย  นอกจากนี้ เวลาวางบนโต๊ะก็ไม่กลิ้งตกง่าย ส่วนปลายข้างล่างของตะเกียบทำเป็นท่อนกลมช่วยให้ไม่บาดปากใน ขณะรับประทาน  หลังจากตะเกียบแพร่หลายไปถึงญี่ปุ่น  ชาวญี่ปุ่น ได้ผลิตตะเกียบรูปทรงกรวยทั้งอัน เพราะว่า ชาวญี่ปุ่นส่วนมากชอบกินอาหารดิบและแช่เย็น  เช่น ปลาดิบเป็นต้น การใช้ตะเกียบลักษณะนี้จะสะดวกมากกว่า
ถึงแม้ว่าตะเกียบจะมีโครงสร้างที่ง่ายมาก   แต่ชาวจีนก็มีวิธีการผลิต ตะเกียบ  โดยใช้วัสดุชนิดต่าง ๆ และแกะสลักลวดลายสวยงามบนตะเกียบ   เมื่อกว่า ๒ พันปีที่แล้ว  ก็มีตะเกียบทำด้วยงาช้างและทองแดง ตั้งแต่ ศตวรรษที่ ๖ ถึง ๘ เป็นต้นมา  ราชสำนัก  ครอบครัวขุนนางและคนรวยต่างใช้ตะเกียบที่ทำด้วยทองคำและเงิน  หรือตะเกียบที่ทำจากหยกและประการังที่มีการแกะสลัก   ตะเกียบที่พิถีพิถันยังมีการเลี่ยมเงินตรงปลายบนของตะเกียบ  ตะเกียบแบบนี้ใช้สำหรับทดสอบอาหารว่ามีพิษหรือไม่  ถ้าอาหารมีสารพิษ เงินที่เลี่ยมตรงปลายตะเกียบก็จะเปลี่ยนเป็นสีดำหรือสีเขียวทันที
   ตะเกียบมีบทบาทสำคัญมากในขนบประเพณีของชาวจีน   เจ้าสาว ในบางท้องถิ่นถ้าออกเรือน  สินเดิมของหญิงต้องมีชามและตะเกียบ สองชุดที่เตรียมไว้สำหรับเจ้าบ่าวและเจ้าสาว อีกทั้งใช้เชือกแดงผูกเข้าไว้ด้วยกัน ตั้งชื่อให้ว่า  ชามลูกหลาน   ทั้งนี้ไม่เพียงแต่แสดงว่า   จากนี้ไป สามีภรรยาที่เพิ่งแต่งงานจะใช้ชีวิตร่วมกัน  หากยังมีความหมายว่า   ขอให้มีลูกโดยเร็ว เพราะในภาษาจีน คำว่า ตะเกียบ ออกเสียงเป็น คว่าย มีความหมายว่า เร็ว   ในชนบททางภาคเหนือของจีนยังมีขนบธรรมเนียมดังนี้   ในคืนที่ฉลองงานสมรสในห้องนอนของคู่บ่าวคู่สาว   ญาติพี่น้องจะโยน ตะเกียบจากนอกหน้าต่างเข้าไปในห้องนอนคู่บ่าวสาว การกระทำเช่นนี้มีความหมาย  เป็นสิริมงคล ให้สมความปรารถนา และมีลูกโดยเร็ว   แม้ว่าตะเกียบประกอบด้วยก้านไม้เล็ก ๆ สองชิ้นเท่านั้น แต่จะใช้ตะเกียบให้คล่องไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย 
   เทคนิคในการใช้ตะเกียบของชาวจีนเป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติสนใจมาก  ในประเทศตะวันตก ยังมีศูนย์ฝึกอบรมการใช้ตะเกียบโดยเฉพาะ   ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์บางคนเห็นว่า   การใช้ตะเกียบจะต้องเคลื่อนข้อต่อ ๓๐ กว่าจุดและ กล้ามเนื้อ ๕๐ กว่ามัด ซึ่งจะช่วยให้นิ้วมือมีความคล่องแคล่วยิ่งขึ้นและมีความเฉียบไวในการ ใช้สมองยิ่งขึ้น   จีนเป็นบ้านเกิดของตะเกียบ แต่ตามข่าวของสื่อมวลชน พิพิธภัณฑ์ตะเกียบแห่งแรกในโลกอยู่ที่เยอรมัน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้จัดแสดงตะเกียบที่ทำจากทองคำ เงิน หยกและกระดูกสัตว์รวม ๑ หมื่นคู่   ตะเกียบเหล่านี้นำมาจากประเทศและเขตแคว้นต่าง ๆ ทั่วโลก  และเป็นตะเกียบที่ผลิตในยุคสมัยต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์  มีความหลากหลายมากทีเดียว



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น